การก่อตั้งคณะฯในประเทศไทย

เริ่มต้นพันธกิจ ณ ดินแดนสยามครั้งแรก (ค.ศ.1885-1907)

วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1885 ภคินีคณะพระกุมารเยซู (ซิสเตอร์คณะแซงต์โมร์) 3 คน โปสตุลันต์ 2 คน และเด็กกำพร้าอีก 1 คน ได้ออกเดินทางจากประเทศสิงคโปร์มาถึงกรุงเทพในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1885 ตามคำเชิญของ ฯพณฯ พระสังฆราช ฌอง หลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังสยามในเวลานั้น คณะภคินีพระกุมารเยซูได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงเรียนและสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนประถมในโรงเรียนโรซารีคอนแวนต์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

ในปี ค.ศ.1896 บรรดาภคินีพระกุมารเยซูได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนคอนแวนต์ สีลม กรุงเทพฯ และได้เปิดโรงเรียนพระกุมารเยซูคอนแวนต์ขึ้นที่นั้น มีนักเรียนแรกเปิดทั้งหมด 16 คน กิจการของโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากจนสามารถรับนักเรียนได้ประมาณ 500 คนและรับนักเรียนประจำได้ถึง 80 คน

ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1907 ด้วยเหตุจำเป็นบางประการพร้อมทั้งมีการเปิดบ้านใหม่ที่อีโปร์ ท่านอธิการิณีเจ้าคณะแขวงประเทศมาเลเซียจึงเห็นสมควรให้คณะภคิณีพระกุมารเยซูในประเทศไทยเดินทางกลับเมืองอีโปร์ ประเทศมาเลเซีย รวมเวลาที่อยู่ในประเทศไทยครั้งแรกนี้ 22 ปี

เริ่มต้นพันธกิจ ณ ดินแดนสยาม ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1957-ปัจจุบัน)

ค.ศ.1956 คุณแม่จอห์น เดสแม็ค มหาอธิการิณีเจ้าคณะและที่ปรึกษา คุณแม่ยอห์น จากฝรั่งเศส กำลังอยู่ระหว่างการเยี่ยมสมาชิกที่มาเลเซีย และขากลับเพื่อไปประชุมสมัชชาคณะพร้อมกับคุณแม่ชาร์ล แดลบาร์ เลขาธิการและอธิการิณีเจ้าคณะแขวง ประเทศมาเลเซีย ได้แวะเยี่ยมสยาม ในวันที่ 12 มีนาคม ตามคำเชิญของ ฯพณฯ พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ประมุขมิสซังจันทบุรีในขณะนั้น เพื่อปรึกษาหารือและวางแผนในการส่งคณะภคินีพระกุมารเยซูให้มาเปิดโรงเรียนที่ชลบุรี

ต่อมาในปี ค.ศ.1957 วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ คุณแม่ชาร์ล แดลบาร์ อธิการิณีเจ้าคณะแขวง ประเทศมาเลเซีย พร้อมกับภคินีอีก 5 คน ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติภาระกิจตามที่ได้รับมอบหมาย บรรดาสมาชิกที่เดินทางมาในครั้งนี้มีคนไทย 2 คน ได้แก่ ภคินีฟรันซิส ชูจิตต์ ผลสุวรรณ ภคินีหลุยส์ มารี สมเจตน์ เสวตรวิย์ และชาวฝรั่งเศสอีก 3 คน ได้แก่ ภคินีอัลฟองส์ คุมส์ ภคินีเอลิซาเบท ดูโครส์ และคุณแม่ปอล บานาล ได้เข้าพักอาศัยชั่วคราวในบ้านเช่าที่ซอยร่วมฤดี ใกล้โบสถ์พระมหาไถ่ ขณะรอการก่อสร้างโรงเรียนที่ชลบุรีซึ่งใช้เวลามากกว่า 1 ปีนั้น ก็ได้รับเชิญจากคณะสงฆ์พระมหาไถ่ให้ร่วมดำเนินงานการศึกษาใน "โรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษา" ที่กรุงเทพฯ เปิดทำการสอนให้เด็กนักเรียนคนไทยและต่างชาติ จนกระทั่งปี ค.ศ.1963 จึงได้มีการแยกออกเป็นโรงเรียนนานาชาติอีกต่างหาก โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา"

ภายหลังเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนที่ชลบุรีเสร็จสมบูรณ์ คุณแม่เออร์เนส ภคินีไมเคิล ยันตระโกศล และภคินีฟรันซิส ชูจิตต์ ผลสุวรรณ จึงได้ย้ายไปประจำที่ชลบุรี และเปิดโรงเรียนมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ เพื่อให้บริการด้านการศึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฏาคม ค.ศ.1958

ต่อมาในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1963 ได้มีการเปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นที่บ้านเช่า บนถนนสาทรเหนือ ชื่อ "โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา" เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกความรู้ความชำนาญในการทำหน้าที่เลขานุการ จนกระทั่งปี ค.ศ.1965 จึงได้ย้ายไปที่ถนนสุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
 
  • ปี ค.ศ.1964   เปิดโรงเรียนพระกุมารเยซู ขอนแก่น
  • ปี ค.ศ.1971   เปิดโรงเรียนพระกุมารเยซู โนนสมบูรณ์
  • ปี ค.ศ.1972   เปิดโรงเรียนพระกุมารเยซู บ้านไผ่
  • ปี ค.ศ.1987   นอกจากได้มีการเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กพระกุมารเยซู ชลบุรีแล้ว ยังได้เข้าร่วมงานการศึกษาและงานอภิบาลที่จังหวัดชัยภูมิอีกด้วย
  • ปี ค.ศ.1999   เปิดศูนย์ฝึกอาชีพพระกุมารเยซู ที่จังหวัดขอนแก่น
  • ปี ค.ศ.2000   เปิดโรงเรียนพระกุมารเยซู เชียงของ จังหวัดเชียงราย
กิจการด้านการให้การศึกษาอบรมของคณะได้รับความนิยมจากผู้ปกครองและเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และเพื่อร่วมมือในการเสริมสร้างโลกแห่งความรัก ยุติธรรม และสันติ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันคณะภคินีพระกุมารเยซูประเทศไทย ยังได้ขยายงานด้านอื่น ๆ เช่น งานสังคมสงเคราะห์และงานสังคมพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการเร่งด่วนของพระศาสนจักรท้องถิ่นอย่างเต็มกำลังความสามารถอีกด้วย
Visitors: 16,425